เคยส่องกระจกแล้วไม่พอใจกับรูปร่างหน้าตาตัวเองไหม หรือส่อง Facebook IG ใครต่อใครแล้วรู้สึกว่าทำไมเราไม่ดูดีแบบนั้น คนไทยจำนวนไม่น้อยเป็นโรค BDD (Body Dysmorphic Disorder) หรือโรคคิดหมกมุ่นกับรูปร่างหน้าตาตัวเอง จากการเสพสื่อต่าง ๆ ที่มีแต่คนหน้าตาดี แล้วเกิดการเปรียบเทียบกับตัวเอง
หลายคนไม่พอใจกับรูปลักษณ์ของตัวเองจนไม่มีความสุข เครียด จนส่งผลต่อการใช้ชีวิต และอาจทำให้มีภาวะซึมเศร้า เก็บตัว ออกห่างจากสังคมได้อีกด้วย เนื่องจากกระแสโซเชียลต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องความงาม
กรมสุขภาพจิตพบคนไทยป่วยเป็นโรค BDD มากขึ้น โดยมีการเข้ารักษาแล้วเดือนละกว่า 10 คน การคาดหวังว่าตัวเองจะต้องดูดีตามกระแส เมื่อผิดหวัง ผู้ป่วยก็จะยิ่งเครียด คิดหมกมุ่น กว่า 70% มีภาวะเครียดรุนแรง แล้วที่น่ากลัวคือ 20% มีการทำร้ายตัวเอง อาการหมกหมุ่นกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองจะพบมากในคนโสดอายุ 15-30 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มว่าผู้ชายจะมีเปอร์เซ็นที่สูงขึ้นด้วย
ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่จะหมกมุ่นเรื่องปัญหาเส้นผม จมูกไม่โด่ง/เบี้ยว ปัญหาสุขภาพผิว ปัญหาตาชั้นเดียว หนังตาตก อ้วนไป ผอมไป ริมฝีปากหนาหรือบางเกินไป ปัญหาเกี่ยวกับคาง กรามเหลี่ยม ปัญหาฟัน ฯลฯ
การสังเกตโรค BDD เราควรลองถามตัวเองดูว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
- มีความคิดอยากแก้ไขส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- มีความกังวลว่าคนอื่นจะเห็นความผิดปกติของตัวเอง หรือพยายามปกปิดส่วนนั้น
- ส่องกระจกเช็คดูความผิดปกตินั้นอยู่บ่อย ๆ หรือ ไม่ยอมส่องมันซะเลย
- หากมีอาการเหล่านี้ เราต้องไม่กลัวที่จะเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี
เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกนั้นล้วนแล้วแต่ไม่จีรังยั่งยืน สุดท้ายแล้วคุณค่าของคนเราก็มาจากข้างใน ไม่ใช่รูปร่างหน้าตา
ที่มา: เดลินิวส์, http://www.thaihealth.or.th
By Bangkok Innovation House Team