ใครไม่เคย กุ้งเคย
รู้หรือไม่ว่า เคยหรือกุ้งเคยตัวจิ๋ว ๆ ที่เอามาทำกะปินั้น สามารถย่อยพลาสติกได้!
เคย หรือ Krill สามารถย่อย Microplastics ได้ หลายคนคงคิดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีสิ จะได้ช่วยย่อยสลายขยะพลาสติกในทะเล ทว่า กุ้งเคยไม่ได้ย่อย Microplastics แล้วทำให้มันสลายหายไปเลย แต่จะกลายเป็น Nanoplastics ที่มีขนาดเล็กลงไปอีกแทน ทำให้ง่ายต่อการแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไปกันใหญ่ ขยะพลาสติกที่คนมักง่ายทิ้งลงทะเลไปนั้น ไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ แต่ยังเป็นอันตรายต่อคนที่บริโภคสัตว์น้ำเหล่านั้นด้วย!
เคย เป็นอาหารพื้นฐานสำหรับสัตว์น้ำหลายต่อหลายชนิด เมื่อปลากินเคยเข้าไปเป็นอาหาร Nanoplastics ที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอนในตัวเคยก็จะถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงผู้บริโภคอาหารทะเลอย่างเราในที่สุด และเป็นวงจรวนไป ปากและกระเพาะอาหารของกุ้งเคย จะทำหน้าที่คล้ายเครื่องบดที่บด Microplastics เป็นชิ้นเล็ก ๆ อย่างละเอียด ซึ่งจะติดอยู่ในปาก หลอดอาหาร และกระเพาะอาหารของเคย แพลงตอนชนิดอื่น ๆ ก็คาดว่าจะมีกระบวนการย่อยอาหารที่คล้ายคลึงกัน จึงคาดว่าน่าจะย่อย Microplastics ได้ในทำนองเดียวกัน
ขยะพลาสติกในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ กำลังแพร่กระจายไปไกลกว่าเดิม แถมอันตรายจากขยะพลาสติกยัังไม่ได้มีแค่ในทะเลเท่านั้น บนบกเองก็เช่นกัน พลาสติกที่อยู่ในป่าหากถูกสัตว์กินเข้าไปก็จะยิ่งย่อยง่าย เนื่องจากได้รับการย่อยสลายจากแสงยูวีในระดับหนึ่งแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่าขยะพลาสติกเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก และสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ผ่านทางอาหารและน้ำ นอกจากนี้สารเคมีที่เป็นพิษต่าง ๆ ก็อาจจะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของเราได้เช่นกัน
ขยะพลาสติกที่เราทิ้งลงทะเลไป สุดท้ายมันอาจย้อนกลับเข้ามาสู่ร่างกายของเรา ฉะนั้น ทิ้งขยะให้ถูกที่ เริ่มต้นที่ตัวเราและคนรอบข้างนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจาก
Bangkok Innovation House
ที่มา: Iflscience, Nature Communications, The Guardian
By Bangkok Innovation House Team