Hall Of Fame

โครงการฝนหลวง 1 ในพระราชกรณียกิจของในหลวง ด้านวิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยี

_____________________________________________________________________

By TARIT TATIYARAT

Updated January 8th, 2017 

โครงการฝนหลวง

 

ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ

ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยม พสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย่านบริเวณเทือกเขาภูพานทรงสังเกตว่า มีปริมาณเมฆมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทางบิน แต่ไมสามารถรวมตัวจนเกิดเป็นฝนตกได้ ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝน และทรงพบเห็นว่าหลายแห่งประสบปัญหา พื้นดินแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก เกษตรกรมักประสบความเดือดร้อนจากภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ในระยะวิกฤติของพืชผล ทำให้ผลผลิตต่ำ หรืออาจไม่มีผลผลิตเลย และอาจทำให้ ผลผลิตที่มีอยู่เสียหายได้ จึงเป็นความเดือดร้อนอย่างสาหัส และก่อให้เกิดความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจ แก่เกษตรกรอย่างใหญ่หลวง นอกจากนี้ความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้น เพราะการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรกรรม และการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งมีผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนจากทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ ไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นได้ชัดจากปริมาณ น้ำในเขื่อนภูมิพลที่ลดลงอย่างน่าตกใจ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และทรงความอัจฉริยะของพระองค์ด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ ทรงสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้น และได้มีพระราชดำริครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2498 แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่าจะทรงค้นหา วิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับจากธรรมชาติโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ กับทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เกิดมีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้ "ฝนหลวง" หรือ "ฝนเทียม" จึงกำเนิดขึ้นโดยประยุกต์ผลการวิจัยค้นคว้าทางวิชาการด้านฝนเทียมของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอิสราเอล

 

พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงวิเคราะห์การทำฝนหลวงว่ามี 3 ขั้นตอน คือ

 

ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน เป็นการกระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มแกน เพื่อใช้เป็น แกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมออกไซด์ หรือสารผสมระหว่าง เกลือแกงกับสารยูเรีย หรือสารผสม

 

ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน ขั้นตอนนี้ใช้สารเคมี คือ เกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 สารยูเรีย สารแอมโมเนียไนเตรท น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้สารแคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำ (Nuclii) ให้กลุ่มเมฆฝน มีความหนาแน่นมากขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 3 โจมตี สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้เป็นสารเย็นจัด คือซิลเวอร์ไอโอได น้ำแข็งแห้ง เพื่อทำให้เกิดภาวะความไม่สมดุลมากที่สุด ซึ่งจะเกิดเป็นเม็ดน้ำ ที่มีขนาดใหญ่มาก และตกกลายเป็นฝนในที่สุด อย่างไรก็ดี ทุกขั้นตอนจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้สารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ

 



By Bangkok Innovation House Team