ในสังคมดิจิทัลเช่นนี้ เทคโนโลยีก้าวไกลจนปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีผลต่อเราทุกคน การเรียนการสอนก็ต้องปรับตัวให้เท่าทัน หลักสูตรจึงมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้วิชา “วิทยาการคำนวณ” (Computing Science) ถูกบรรจุลงในหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว
อย่างในประเทศฟินแลนด์ที่มีระบบการศึกษาที่ดีเป็นอันดับ 1 ของโลก ได้จัดให้มีวิชาเขียนโปรแกรมในหลักสูตรแล้วตั้งแต่เมื่อปีก่อน โดยเริ่มตั้งแต่เกรด 1 กันเลยทีเดียว ประเทศสิงคโปร์เองก็มีมาได้ 2 ปีแล้ว หรือประเทศอังกฤษที่มีมานานถึง 5 ปี ประเทศไทยของเราก็นับว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่ปรับหลักสูตรให้เข้ากับเทรนด์โลก ณ ขณะนี้
นักเรียนไทยตั้งแต่ชั้นป. 1, ป. 4, ม. 1 และ ม. 4 รุ่นปีการศึกษา 2561 นี้ จะเป็นรุ่นแรกที่ได้เริ่มเรียนหลักสูตรใหม่ที่บรรจุวิชาวิทยาการคำนวณไว้ โดยวิชานี้จะสอนให้นักเรียนสามารถเขียน พัฒนา และฝึกคิดอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เป็นพื้นฐานทักษะความคิดที่จำเป็น ซึ่งจะส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ของเด็กต่อไป
แต่ไม่ต้องกลัวว่าการเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นป. 1 จะเร็วเกินไป หรือเนื้อหายากไปหรือเปล่า เพราะนร.ชั้นป. 1 จะเรียนแบบ Unplugged คือยังไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นการฝึกใช้บัตรคำสั่งขึ้น-ลง-ซ้าย-ขวา ต่อมาในป. 4 จึงจะเริ่มมีการใช้โปรแกรม Scratch ของ MIT ประกอบการสอน จากนั้นในชั้น ม. 1 ถึงจะเริ่มมีการเขียนโปรแกรมโดยใช้ภาษาไพทอน (Python) ส่วนในชั้น ม. 4 จะเน้นการทำโครงงานเพื่อบูรณาการองค์ความรู้ทั้งหลาย
ทำไมต้อง Python? เพราะไพทอนเป็นภาษาในการเขียนโปรแกรมที่เหมาะสำหรับการเริ่มเรียนเขียนโปรแกรม เพราะมีโครงสร้างคำสั่งที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการเรียนรู้ ใช้งานสะดวก สามารถทดสอบคำสั่งและเห็นผลลัพธ์ได้ทันที เป็นภาษาพื้นฐานเพื่อการเรียนเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนขึ้น และใช้ทำงานได้จริง ที่ถึงแม้จะไม่ได้บรรจุลงในหลักสูตร แต่ก็มีหลายคนที่ขวนขวายเรียนออนไลน์ด้วยตัวเองอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ทักษะการคิดเชิงคำนวณที่เด็กไทยจะได้เรียนรู้ยังสามารถต่อยอดไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน มองปัญหาอย่างมีทางแก้ด้วยระบบ เข้าใจและสามารถควบคุมระบบอัตโนมัติได้ในเบื้องต้น ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในอนาคตได้ หากเขียนโปรแกรมได้รับรองว่าไม่ตกงาน เพราะปัจจุบันโปรแกรมเมอร์ในตลาดแรงงานไทยมีน้อยมาก และยังคงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง
ไม่แน่ว่า เด็กไทยรุ่นใหม่อาจจะใช้เวลาว่างไปกับการเขียนโปรแกรม สร้างหุ่นยนต์เล่นกันเอง เด็กไทยจะมีทักษะด้านไอทีเพิ่มมากขึ้นหรือจะเก่งขึ้นมากแค่ไหน เราต้องมาลุ้นกันในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา: Line Today, blognone, Dek-D's School
By Bangkok Innovation House Team